ครบรอบ สอง ปี การทำเว็บ

01

ขอแนะนำ เว็บไซต์ น้องใหม่ ของ ซีซั่นนี้

ขอแนะนำ เว็บไซต์ น้องใหม่ ของ ซีซั่นนี้
กับ ICT TRAVEL 2013 SEASON 2
http://katarlevel5.wordpress.com/

0

อาเซียน

อาเชียน1

สวัสดีปีใหม่ แบบ ไทย ไทย

Untitled-1

comsocietygroup :: aseansociety2012

อาเซียน-7occup

aseansociety2012

01-อาเซียน

“สามล้อ” ยานพาหนะท้องถิ่นในประเทศอาเซียน

Untitled-4

“สามล้อ” ยานพาหนะท้องถิ่นในประเทศอาเซียน

ความคล้ายคลึงทางสภาพสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน มีอยู่มากมายหลายเรื่อง สิ่งหนึ่งที่ผู้คนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักคือ ยานพาหนะท้องถิ่น ที่มักจะใช้เป็นรถรับจ้างที่ในการเดินทางในยุคก่อน ซึ่งได้รับความนิยมในเมืองใหญ่ทั่วโลกในช่วงศตวรรษ 19 และพบเห็นได้มากโดยทั่วไปในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้จักกันในต่างชื่อต่างเอกลักษณ์ คนไทยนิยมเรียกโดยรวมว่า “สามล้อ” ปัจจุบันยังคงมีอยู่และพบเห็นได้ตามถนนหนทางบางเส้นทางของแต่ละประเทศในอาเซียน มาดูกันว่าสามล้อของแต่ละประเทศหน้าตาเป็นอย่างไร

เริ่มต้นจาก สามล้อของประเทศไทย มีจุดกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2476 เป็นครั้งแรกที่จังหวัด นครราชสีมา โดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำรถลากหรือรถเจ็กมาดัดแปลงร่วมกับจักรยาน รถสามล้อแบบนี้ถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อที่ใช้รับผู้โดยสารจากสามล้อถีบ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 มีการนำสามล้อเครื่องกระบะบรรทุกจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาดัดแปลงเป็นรถนั่งโดยสาร หรือที่เรียกกันว่า รถตุ๊ก-ตุ๊ก ที่เป็นสามล้อเครื่องยนต์เพื่อทดแทนรถสามล้อถีบ ซึ่งถูกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพฯ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิต รถตุ๊ก-ตุ๊ก ได้เอง และส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ในนาม “TUK-TUK” สามล้อตุ๊ก-ตุ๊ก มีบริการทั่วไปทุกจังหวัด และเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่งของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

ในกัมพูชาสามล้อ “ซิโคล่” (Cyclo) เป็นรถจักรยานสามล้อที่คนขับจะนั่งอยู่ด้านหลังสูงเหนือส่วนที่นั่งของผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างสองล้อด้านหน้า เคยเป็นการคมนาคมที่ได้รับความนิยมในช่วงที่กัมพูชายังถูกปกครองโดยฝรั่งเศส เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน แต่นับวัน ”ซิโคล่” กำลังจะสูญหายไปจากเมืองหลวงของประเทศ ปัจจุบันมี ”ซิโคล่” เหลืออยู่ในกรุงพนมเปญ ประมาณ 500 คัน จึงได้มีการรณรงค์ เพื่ออนุรักษ์รถสามล้อถีบ “ซิโคล่” นี้ขึ้น ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สามารถนั่งรถซิโคล่ชมเมืองได้

เช่นเดียวกันกับที่เวียดนาม รถสามล้อถีบท้องถิ่นของเวียดนาม หรือ “แซบาแบ้ง” หรือที่นิยมเรียกว่า “ซิโคล่” (Cyclo) นั้น ยังคงมีเลือกใช้ให้บริการสำหรับนั่งเที่ยวชมเมือง อาคารเก่าแก่ที่สวยงาม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม ซึ่งผู้โดยสารจะนั่งอยู่หน้า ส่วนคนขี่จะถีบจักรยานอยู่หลังผู้โดยสาร ทำให้ผู้โดยสารสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้ค่อนข้างกว้าง รถซิโคล่ยังมีโครงสร้างที่แข็งแรงมาก สามารถใช้ขนของที่มีน้ำหนักมากๆได้ด้วย

ในเมืองต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซียนั้น ยังคงนิยมการโดยสารรถสามล้อที่เรียกว่า “Motorized Becaks” อยู่ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะราคาการให้บริการถูก Becak หรือ “เบชัค” ( มาจากภาษาฮ๊กเกี้ยน : Be chia หรือรถม้า ) เป็นจักรยานและปรับแต่งให้สามารถโดยสารได้ โดยทั่วไป Becak สามารถให้ผู้โดยสารนั่งได้ 1 หรือ 2 คนเท่านั้น และจะมีคนขับอีก 1 คน Becak มีทั้งประเภทที่มีคนขับอยู่ด้านหลังและที่มีคนขับอยู่ด้านข้าง และมีทั้งแบบจักรยานและมอเตอร์ไซด์

สามล้อของมาเลเซีย หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ทริสสิกัล” (Trisikal) ซึ่งเป็นผู้โดยสารนั่งด้านหน้าได้ 2 คน ส่วนคนขี่สามล้อจะอยู่ที่ด้านหลัง พบเห็นได้ตามเมืองเก่าแก่ อย่างปีนัง นอกจากนั้นที่เมืองมะละกา รถลากหรือรถสามล้อถีบ ที่เรียกว่า “Trishaws/Tricycle Rickshaw” มีหน้าตาคล้ายๆ สามล้อถีบเมืองไทย แต่จะโดดเด่นกว่าก็ตรงที่แต่ละคันจะประดับประดาด้วยดอกไม้พลาสติกสีสดใส ตกแต่งตามสไตล์คนถีบ ที่เมืองมะละกานี้ จะมีรถสามล้อถีบเหล่านี้ขี่พาผู้โดยสารเที่ยวในจุดสำคัญๆ ของเมือง

สามล้อลาว หรือภาษาลาวเรียกว่า “สามล่อ” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “สามล้อน้อย” มีลักษณะเหมือนกับสามล้อเครื่องเหมือนไทยเรา หรือสกายเเลป สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศลาว

สามล้อพม่า หรือ “ตงเบงชานเย่” หรือ “ไซก้า” (Saika) ในภาษาพม่า ซึ่งมาจากคำว่า “Side Car” ที่แปลว่า สามล้อนั่งข้าง ในภาษาอังกฤษ ไซก้าของพม่า คนถีบจะอยู่ด้านซ้ายและผู้โดยสารอยู่อีกข้างหรือด้านกลางถนน สามล้อพม่าอาจจะไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะชาวพม่าส่วนใหญ่มีจักรยานส่วนตัวใช้กันอยู่แล้ว และสามล้อพม่าส่วนใหญ่จะใช้วิธีจอดรถไว้ในที่ร่มและคนถีบสามล้อก็เดินไปมาเพื่อหาลูกค้า

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่นิยมใช้รถสามล้อในการเดินทางกันมาก “แท้ทลอง วีเล้อ” (Tatlong-wiler) หรือสามล้อของประเทศฟิลิปปินส์ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์เริ่มหันมาใช้สามล้อพลังงานไฟฟ้าในชื่อ “อี-ไตรเกส” (e-trikes) ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ซึ่งนำกลับมาชาร์จใหม่ได้ เพื่อทดแทนรถสามล้อเครื่องที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างสิ้นเปลืองแล้วยังก่อให้เกิดควัน สามล้อพลังงานไฟฟ้านี้มีให้บริการประชาชนในกรุงมะนิลา โดยเฉพาะตามตรอกซอกซอยซึ่งรถโดยสารสาธารณะเข้าไปไม่ถึง

สามล้อถีบเป็นวิธีการขนส่งที่ใช้กันทั่วไปในสิงคโปร์สมัยก่อน ต้นแบบของรถสามล้อถีบก็คือ “รถลาก” ที่ใช้กันในเมืองเซี่ยงไฮ้ในยุค 1880 ซึ่งแต่ก่อนจะใช้คนลากอยู่ด้านหน้าของที่นั่งซึ่งติดอยู่กับล้อขนาดใหญ่สองล้อ สามล้อถีบมีขึ้นครั้งแรกในสิงคโปร์ในทศวรรษที่ 1940 ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยเห็นสามล้อแบบนี้บนถนนมากนัก ที่สิงคโปร์นั้นจะมีทัวร์สามล้อให้ใช้บริการ การโดยสารสามล้อถีบ trishaws หรือ “ซาน ลู่ เชอ” ถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเที่ยวชมถนนในสิงคโปร์

มีเพียงบรูไน ประเทศเดียวที่ไม่มีบันทึกการใช้สามล้อ สามล้อแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆแต่ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย สำนักเลขาธิการอาเซียนเคยจัดการแข่งขันรถสามล้อ หรือ ตุ๊ก-ตุ๊กแรลลี่มาแล้ว เพื่อส่งเสริมนโยบายสร้างความสัมพันธ์แบบรวมกลุ่มในหมู่ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเมื่อปี 2554 โดยเป็นการแข่งขันแรลลี่ระยะทางไกลจากกรุงจาการ์ต้า เมืองหลวงของอินโดนีเซีย มาสิ้นสุดที่กรุงเทพมหานคร คิดเป็นระยะทางถึง 3,000 กิโลเมตร มีเป้าหมายเพื่อแสดงถึงความเชื่อมโยงของอาเซียน

เรียบเรียงโดย ณัฐนันท์ รจนกร
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.oknation.net/blog/akom/2012/02/12/entry-1
http://www.baanmaha.com/community/thread38691.html
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000124257

http://onknow.blogspot.com/2010/05/blog-post_279.html
http://www.dailynews.co.th/world/171883
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000003532
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=314597
http://incountryindonesia54.blogspot.com/2011/12/becak.html
http://news.thaipbs.or.th/node/40194

โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: สะพานเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

Untitled-4

โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: สะพานเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

โดย อุษณีย์ ศรีธัญรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

รัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ( Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project) และถนนเชื่อมต่อไปยังประเทศไทย วงเงินลงทุน ๔ แสนล้านบาท คาดการณ์กันว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะเป็นประตูเศรษฐกิจ (Gate Way) แห่งใหม่ของโลกตะวันตกและตะวันออก และรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เป็นอย่างดี พื้นที่โครงการตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า ห่างจากเมืองทวายประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๔๐๐,๐๐๐ ไร่ หรือ ๒๕๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก ๒ ท่า ส่วนที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนที่เป็นที่พักอาศัย ส่วนราชการ และส่วนอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งมีพื้นที่ริมทะเลเป็นแนวหาดทรายมีความยาว ๑๒ กิโลเมตร

เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ บริษัทอิตาเลียน – ไทย ดิเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ร่วมลงนามทำข้อตกลงกับคู่สัญญาคือ การท่าเรือ หน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคมของพม่า เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างไทยกับพม่า ความตกลงอายุสัมปทาน ๖๐ ปี ซึ่งจะดำเนินการโดยบริษัทลูกชื่อ Dawei Development Company (DDC) นับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกในพม่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาใน ๓ ระยะ คือ ระยะแรกจากปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๘ เน้นโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนสำคัญที่สุดคือถนน ๘ เลน ยาว ๑๖๐ กม. กับทางรถไฟมายังชายแดนไทย ถนนจากทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน ต.หินเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ได้สร้างเสร็จเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๔ และขณะนี้กำลังวางท่อก๊าซและน้ำมันคู่ขนานกับถนนและทางรถไฟ ระยะที่ ๒ จะสร้างท่าเรือทวาย เรือที่มีระวางบรรทุก ๒๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ ตันจะสามารถเข้าเทียบท่าได้พร้อมกัน ๒๕ ลำ ท่าเรือจะรองรับสินค้าได้ปีละ ๑๐๐ ล้านตัน ส่วนระยะที่ ๓ เป็นการสร้างนิคม

อุตสาหกรรม ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยท่าเรือและ อุตสาหกรรมหนัก น้ำมันและก๊าซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลาย อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก เมื่อสร้างเสร็จครบทั้ง ๓ ระยะ ทวายจะกลายเป็น ศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์และการค้าขนาดใหญ่ เป็น New Land Bridge ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่ง และการค้าระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศในแถบทะเลจีนใต้ ผ่านทะเลอันดามัน ไปสู่มหาสมุทรอินเดีย สู่กลุ่มประเทศตะวัน ออกกลาง ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา (มาเลเซีย) ทำให้ร่นระยะเวลาการขนส่งและประหยัดต้นทุนจากระยะทางขนส่งสินค้าที่สั้นลงอย่างมาก

ท่าเรือน้ำลึกทวายยังอยู่ในโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ (EconomicCorridors) ในกรอบความร่วมมือของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub – Region ) ตามกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพตามเส้นทางพัฒนา ๓ เส้นทางคือ

๑. ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม ถึงเมืองมะละแหม่ง ของพม่า (ทวาย เป็นเมืองชายทะเลอันดามันทางภาคใต้ของพม่า อยู่ใต้เมือง เมืองมะละแหม่ง)

๒. ระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor) ระหว่างเมืองโฮจิมินห์ หรือไซ่ง่อนเดิมของเวียดนาม มาสุดทางที่เมืองทวาย

๓. เชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ระหว่างเมืองคุนหมิง ในจีนกับกรุงเทพฯ

(โครงการที่มีชื่อท้ายว่า “คอริดอร์ส” (corridors) คือเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมืองสำคัญๆ ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย ๖ ประเทศคือ ไทย จีน (มณฑลยูนนาน) เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า กลุ่มประเทศเหล่านี้มีประชากรรวมกัน ๒๕๐ ล้านคน มีพื้นที่รวมกัน ๒๓ ล้านตารางกิโลเมตร (เทียบได้กับยุโรปตะวันตก)

สำหรับประเทศไทยแล้ว ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเสริมสร้างการเป็นโลจิสติกส์ ฮับ (Logistics Hub) ของประเทศไทย หากท่าเรือทวายแล้วเสร็จจะช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่ง ระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย (พม่า) กับท่าเรือแหลมฉบัง (ไทย) โดยใช้ระยะเวลาเพียง ๑ วัน และส่งผ่านไปยังประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่นหรือประเทศในแถบแปซิฟิก ส่วนความเชื่อมโยงกับประเทศไทยในเชิงพื้นที่ ณ บ้านพุน้ำร้อน ต. หินเก่า อ. เมือง จ.กาญจนบุรี นั้น เมื่อมีการพัฒนา ด่านบริเวณบ้านพุน้ำร้อน ไปสู่ด่านผ่อนปรน ทางการค้า จะก่อให้เกิดการขยายตัวทาง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว ประเทศไทยยังจะได้รับประโยชน์จากแรงงานพม่าซึ่งมีค่าจ้างแรงงานถูก ทำให้อุตสาห กรรมชนิดใช้แรงงานเข้มข้นของไทย เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรม เส้นทางสายใหม่โดยใช้ท่าเรือน้ำลึก การก่อสร้าง สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้

อย่างไรก็ตาม โครงการท่าเรือน้ำลึก และอุตสาหกรรมทวาย ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเท่านั้น ต้องใช้ระยะเวลานานเป็นสิบปีจึงจะแล้วเสร็จ สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมีอุปสรรคบางประการที่อาจทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไป อาทิ ความเสี่ยงภายในจากชนกลุ่มน้อยในพม่า การต่อต้านของกลุ่มต่างๆและภาคประชาชนบางส่วนที่เห็นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์แก่ไทยมากกว่าพม่า และการที่พม่าขอแก้ไขสัญญาบางข้อเพื่อลดแรงต่อต้านลง เป็นต้น ปัจจุบันการก่อสร้างในโครงการทวายยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก นอกเหนือจากการสร้างบ้านใหม่ให้ชาวบ้านที่ต้องย้ายออก บริษัทที่เกี่ยวข้องหวังว่า จะเริ่มลงมือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโรงงานต่าง ๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้ในปี ๒๕๕๖ ดังนั้นความสำเร็จของโครงการ และผลประโยชน์ต่างๆที่คาดว่าจะได้รับเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดูกันต่อไป นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ยืนยันร่วมกันในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีไทยเยือนพม่าเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๕ ว่า จะให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยไทยพร้อมพิจารณาก่อสร้างถนนต่อจากเมียวดี-กอกะเระ และเชื่อมต่อไปยังมะละแหม่ง เพื่อการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน ขณะที่พม่าเตรียมเปิดด่านสิงขรเป็นด่านถาวรตามที่ไทยร้องขอ

อ้างอิง -บทความเรื่อง “ท่าเรือน้ำลึกทวาย”…ไทยจะได้อะไร? ๑๑ เมษายน ๒๕๕๔
โดย เรวดี แก้วมณี สำนักนโยบายอุตสาหกรรมมหภาค
http://www.oie.go.th/
-http://www.kingdomplaza
– hthttp://www.thaipost.net/node/51097

-http://www.thai-aec.com/
-http://news.thaipbs.or.th วันที่ ๑๗/๑๒/๑๒

-บทความเรื่อง ท่าเรือน้ำลึกทวาย bangkokbiznews.com

ความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน

Untitled-4

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน :
ความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน

โดย อุษณีย์ ศรีธัญรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network หรือ AUN) ตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘ ตามมติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔ ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๕ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาค อาเซียน โดยการลงนามในความตกลงเพื่อจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ๒ ฉบับคือ กฎบัตรเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ( Charter of the ASEAN University Network ) ลงนามโดยรัฐมนตรีด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน และข้อตกลงร่วมในการจัดตั้ง เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ( Agreement on the Establishment of the ASEAN University Network ) ลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสมาชิก

ความตกลงจัดตั้ง AUN เมื่อปี ๒๕๓๘ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยผู้ก่อตั้ง ๑๑ แห่ง จาก ๖ ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ๑.มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน ดารุสซาลาม ๒.มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ๓. มหาวิทยาลัยกัจจา มาดา ๔. มหาวิทยาลัยเซนส์ มาเลเซีย ๕.มหาวิทยาลัยมาลายา ๖. มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ๗. มหาวิทยาลัยเดอ ลา แซล ๘. มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ๙. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ๑๐. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ๑๑ มหาวิทยาลัยบูรพา ต่อมาเมื่อลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชาเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน ระหว่างปี ๒๕๓๘ – ๒๕๔๒ ทำให้จำนวนมหาวิทยาลัยสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก ๑๑ แห่ง เป็น ๑๗ แห่ง มหาวิทยาลัยที่เข้าเป็นเครือข่ายใหม่เหล่านี้ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติพนมเปญ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว สถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ฮานอย และมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม โฮจิมินห์ จนถึงปัจจุบัน (ปี ๒๕๕๕) AUN มีสมาชิกรวม ๒๗ แห่งดังนี้

บรูไน ดารุสซาลาม

๑. มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน ดารุสซาลาม
กัมพูชา
๒. มหาวิทยาลัยแห่งชาติพนมเปญ
๓. มหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์
อินโดนีเซีย
๔. มหาวิทยาลัยกัจจา มาดา
๕. มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย
๖. สถาบันเทคโนโลยีบันดุง
๗. มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
๘. มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
มาเลเซีย
๙. มหาวิทยาลัยมาลายา
๑๐. มหาวิทยาลัยเซนส์ มาเลเซีย
๑๑. มหาวิทยาลัยคาบังซาน
๑๒. มหาวิทยาลัยปุตรา มาเลเซีย
พม่า
๑๓. สถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง
๑๔. มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง
๑๕. สถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง
ฟิลิปปินส์
๑๖. มหาวิทยาลัยเดอ ลา แซล
๑๗. มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์
๑๘. มหาวิทยาลัยเอธินีโอเ ดอ มะนิลา
สิงคโปร์
๑๙. มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

บทความพิเศษ กรมประชาสัมพันธ์..กับบทบาท “การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน”

Untitled-4

บทความพิเศษ
กรมประชาสัมพันธ์..กับบทบาท “การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน”

“อัตลักษณ์อาเซียนมีหรือไม่” เป็นหัวข้อเสวนาที่กรมประชาสัมพันธ์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 เพื่อเปิดเวทีให้สื่อมวลชนและนักวิชาการ ร่วมรับฟัง ร่วมคิด และแสวงหาคำตอบร่วมกันว่า อัตลักษณ์ร่วมของอาเซียนมีหรือไม่..และคืออะไร ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ต้องการให้คำถามนี้กระจายไปทั่วสังคม ผ่านการเสวนาในอีก 8 จังหวัดใหญ่ ให้เกิดการพูดคุย ถกเถียง และหาข้อสรุปในแวดวงของนักคิด นักสื่อสารมวลชน และขยายผลเปิดพื้นที่ข่าวสารให้กับ “การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน” ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายความสำเร็จของความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หลังจากที่ข่าวสารด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองความมั่นคงในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้ถูกปลุกกระแสนำหน้าเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” มากว่า 2 ปี ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมไทย ที่ทำให้ความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ถูกมองเป็นเรื่องสำคัญ มากกว่าที่จะสร้างให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับสโลแกน”หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” ที่กลายเป็นคำ “สวยหรู แต่ประชาชนไม่เข้าถึง” ขณะที่ความมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน ที่ประชาชนยังได้ยินได้ฟังมาน้อย กลับจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนอาเซียนรวมกันเป็นปึกแผ่นได้อย่างราบรื่นและมั่นคงมากกว่า หากสื่อมวลชนไทยและอาเซียน ต่างร่วมกันค้นหาความหมายของอัตลักษณ์ร่วม และยกคุณค่านี้ขึ้นมาให้ชาวอาเซียนเกิดความรู้สึกร่วมกันให้ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ASEAN on Street : Love ASEAN ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับพันธมิตร ใช้ถนนสายธุรกิจของกรุงเทพ คือ สีลม ตั้งแต่แยกศาลาแดงถึงแยกสีลม-นราธิวาส จัดงานให้พี่น้องชาวสีลมและผู้คนที่แวะเวียนมา ได้ใช้โอกาสของวันวาเลนไทน์ ส่งมอบความรักและมิตรภาพให้กับเพื่อน ๆ ชาวอาเซียน ตลอดเส้นทาง 1 กิโลเมตร เต็มไปด้วยสีสันและบรรยากาศจาก 10 ประเทศสมาชิก ผ่านการแสดงนิทรรศการ การแสดงทางวัฒนธรรม และซุ้มอาหาร 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ที่สะท้อนแง่งามทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ประหนึ่งเป็นการจำลองถึงอนาคตในอีก 2 ปีข้างหน้าว่า ความแตกต่าง..จะเกิดเป็นความคุ้นชิน ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนสู่การยอมรับซึ่งกันและกัน และความโดดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละชาติ ก็จะกลายเป็น “อัตลักษณ์ร่วม” ที่พลเมืองอาเซียนกว่า 600 ล้านคน จะได้ร่วมรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของ ซึ่งบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวท่ามกลางความหลากหลายเช่นนี้ จะเกิดขึ้นบนถนนคนเดินในอีก 8 จังหวัดทั่วไทย ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ASEAN on Street”

แม้จะยาก..แต่ก็ท้าทาย หากการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน จะทำให้การรวมเป็นประชาคมอาเซียน เกิดขึ้นจากความพร้อมใจของพลเมืองอาเซียน 600 ล้านกว่าคน ที่หวังจะมีอนาคตที่ดีร่วมกัน… 2 ภารกิจสำคัญนี้ จึงเป็นความมุ่งมั่นของกรมประชาสัมพันธ์ ในการจุดกระแสความสนใจของสังคมไทย เพื่อหวังให้เกิดความรู้สึกตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่จะทำให้เกิดการรวมตัวกันอย่างเต็มใจ จนมองข้ามการแข่งขันใดๆ ในทางเศรษฐกิจ หรือการเอาชนะกันเพื่ออ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อน โดยเริ่มจากการทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของการมีวัฒนธรรมร่วม ที่เราจะดึงเอาความเหมือนหรือความคล้ายกัน มาหลอมรวมให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ประจำอาเซียน ส่วนสิ่งใดที่แตกต่าง ก็เคารพในความต่างนั้น จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจที่เราสามารถสร้างเอกภาพบนความแตกต่างได้สำเร็จ และนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวในการเดินหน้าสู่ประชาคมอาเซียนของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

หากแต่ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมได้เกิดขึ้นก่อนหน้า ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน นับย้อนถอยหลังไปถึงประวัติศาสตร์รากเหง้ากันเลยทีเดียว โดยหลักฐานมีปรากฏให้เห็นมากมายจากเทศกาล พิธีกรรมทางศาสนา การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม แม้กระทั่งการกินการอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป้าหมายและมาตรการสำคัญที่จะร่วมกันสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ได้ถูกระบุไว้ชัดเป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฎในแผนการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ทุกประเทศขับเคลื่อน กำกับ และติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

กรมประชาสัมพันธ์และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นสองหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ผลักดันการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทยและภูมิภาค ซึ่งไม่ต่างจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ที่ต่างก็มีภารกิจในขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน และกำลังขะมักเขม้นดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศ ที่ได้บูรณาการยุทธศาสตร์การเข้าไปสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย แผนการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน แผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และแผนการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยที่ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต่างต้องถือปฏิบัติ

ปัณญานัตย์ วิเศษสมวงศ์
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ