aseansociety2012

01-อาเซียน

“สามล้อ” ยานพาหนะท้องถิ่นในประเทศอาเซียน

Untitled-4

“สามล้อ” ยานพาหนะท้องถิ่นในประเทศอาเซียน

ความคล้ายคลึงทางสภาพสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน มีอยู่มากมายหลายเรื่อง สิ่งหนึ่งที่ผู้คนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักคือ ยานพาหนะท้องถิ่น ที่มักจะใช้เป็นรถรับจ้างที่ในการเดินทางในยุคก่อน ซึ่งได้รับความนิยมในเมืองใหญ่ทั่วโลกในช่วงศตวรรษ 19 และพบเห็นได้มากโดยทั่วไปในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้จักกันในต่างชื่อต่างเอกลักษณ์ คนไทยนิยมเรียกโดยรวมว่า “สามล้อ” ปัจจุบันยังคงมีอยู่และพบเห็นได้ตามถนนหนทางบางเส้นทางของแต่ละประเทศในอาเซียน มาดูกันว่าสามล้อของแต่ละประเทศหน้าตาเป็นอย่างไร

เริ่มต้นจาก สามล้อของประเทศไทย มีจุดกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2476 เป็นครั้งแรกที่จังหวัด นครราชสีมา โดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำรถลากหรือรถเจ็กมาดัดแปลงร่วมกับจักรยาน รถสามล้อแบบนี้ถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อที่ใช้รับผู้โดยสารจากสามล้อถีบ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 มีการนำสามล้อเครื่องกระบะบรรทุกจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาดัดแปลงเป็นรถนั่งโดยสาร หรือที่เรียกกันว่า รถตุ๊ก-ตุ๊ก ที่เป็นสามล้อเครื่องยนต์เพื่อทดแทนรถสามล้อถีบ ซึ่งถูกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพฯ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิต รถตุ๊ก-ตุ๊ก ได้เอง และส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ในนาม “TUK-TUK” สามล้อตุ๊ก-ตุ๊ก มีบริการทั่วไปทุกจังหวัด และเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่งของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

ในกัมพูชาสามล้อ “ซิโคล่” (Cyclo) เป็นรถจักรยานสามล้อที่คนขับจะนั่งอยู่ด้านหลังสูงเหนือส่วนที่นั่งของผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างสองล้อด้านหน้า เคยเป็นการคมนาคมที่ได้รับความนิยมในช่วงที่กัมพูชายังถูกปกครองโดยฝรั่งเศส เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน แต่นับวัน ”ซิโคล่” กำลังจะสูญหายไปจากเมืองหลวงของประเทศ ปัจจุบันมี ”ซิโคล่” เหลืออยู่ในกรุงพนมเปญ ประมาณ 500 คัน จึงได้มีการรณรงค์ เพื่ออนุรักษ์รถสามล้อถีบ “ซิโคล่” นี้ขึ้น ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สามารถนั่งรถซิโคล่ชมเมืองได้

เช่นเดียวกันกับที่เวียดนาม รถสามล้อถีบท้องถิ่นของเวียดนาม หรือ “แซบาแบ้ง” หรือที่นิยมเรียกว่า “ซิโคล่” (Cyclo) นั้น ยังคงมีเลือกใช้ให้บริการสำหรับนั่งเที่ยวชมเมือง อาคารเก่าแก่ที่สวยงาม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม ซึ่งผู้โดยสารจะนั่งอยู่หน้า ส่วนคนขี่จะถีบจักรยานอยู่หลังผู้โดยสาร ทำให้ผู้โดยสารสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้ค่อนข้างกว้าง รถซิโคล่ยังมีโครงสร้างที่แข็งแรงมาก สามารถใช้ขนของที่มีน้ำหนักมากๆได้ด้วย

ในเมืองต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซียนั้น ยังคงนิยมการโดยสารรถสามล้อที่เรียกว่า “Motorized Becaks” อยู่ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะราคาการให้บริการถูก Becak หรือ “เบชัค” ( มาจากภาษาฮ๊กเกี้ยน : Be chia หรือรถม้า ) เป็นจักรยานและปรับแต่งให้สามารถโดยสารได้ โดยทั่วไป Becak สามารถให้ผู้โดยสารนั่งได้ 1 หรือ 2 คนเท่านั้น และจะมีคนขับอีก 1 คน Becak มีทั้งประเภทที่มีคนขับอยู่ด้านหลังและที่มีคนขับอยู่ด้านข้าง และมีทั้งแบบจักรยานและมอเตอร์ไซด์

สามล้อของมาเลเซีย หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ทริสสิกัล” (Trisikal) ซึ่งเป็นผู้โดยสารนั่งด้านหน้าได้ 2 คน ส่วนคนขี่สามล้อจะอยู่ที่ด้านหลัง พบเห็นได้ตามเมืองเก่าแก่ อย่างปีนัง นอกจากนั้นที่เมืองมะละกา รถลากหรือรถสามล้อถีบ ที่เรียกว่า “Trishaws/Tricycle Rickshaw” มีหน้าตาคล้ายๆ สามล้อถีบเมืองไทย แต่จะโดดเด่นกว่าก็ตรงที่แต่ละคันจะประดับประดาด้วยดอกไม้พลาสติกสีสดใส ตกแต่งตามสไตล์คนถีบ ที่เมืองมะละกานี้ จะมีรถสามล้อถีบเหล่านี้ขี่พาผู้โดยสารเที่ยวในจุดสำคัญๆ ของเมือง

สามล้อลาว หรือภาษาลาวเรียกว่า “สามล่อ” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “สามล้อน้อย” มีลักษณะเหมือนกับสามล้อเครื่องเหมือนไทยเรา หรือสกายเเลป สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศลาว

สามล้อพม่า หรือ “ตงเบงชานเย่” หรือ “ไซก้า” (Saika) ในภาษาพม่า ซึ่งมาจากคำว่า “Side Car” ที่แปลว่า สามล้อนั่งข้าง ในภาษาอังกฤษ ไซก้าของพม่า คนถีบจะอยู่ด้านซ้ายและผู้โดยสารอยู่อีกข้างหรือด้านกลางถนน สามล้อพม่าอาจจะไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะชาวพม่าส่วนใหญ่มีจักรยานส่วนตัวใช้กันอยู่แล้ว และสามล้อพม่าส่วนใหญ่จะใช้วิธีจอดรถไว้ในที่ร่มและคนถีบสามล้อก็เดินไปมาเพื่อหาลูกค้า

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่นิยมใช้รถสามล้อในการเดินทางกันมาก “แท้ทลอง วีเล้อ” (Tatlong-wiler) หรือสามล้อของประเทศฟิลิปปินส์ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์เริ่มหันมาใช้สามล้อพลังงานไฟฟ้าในชื่อ “อี-ไตรเกส” (e-trikes) ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ซึ่งนำกลับมาชาร์จใหม่ได้ เพื่อทดแทนรถสามล้อเครื่องที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างสิ้นเปลืองแล้วยังก่อให้เกิดควัน สามล้อพลังงานไฟฟ้านี้มีให้บริการประชาชนในกรุงมะนิลา โดยเฉพาะตามตรอกซอกซอยซึ่งรถโดยสารสาธารณะเข้าไปไม่ถึง

สามล้อถีบเป็นวิธีการขนส่งที่ใช้กันทั่วไปในสิงคโปร์สมัยก่อน ต้นแบบของรถสามล้อถีบก็คือ “รถลาก” ที่ใช้กันในเมืองเซี่ยงไฮ้ในยุค 1880 ซึ่งแต่ก่อนจะใช้คนลากอยู่ด้านหน้าของที่นั่งซึ่งติดอยู่กับล้อขนาดใหญ่สองล้อ สามล้อถีบมีขึ้นครั้งแรกในสิงคโปร์ในทศวรรษที่ 1940 ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยเห็นสามล้อแบบนี้บนถนนมากนัก ที่สิงคโปร์นั้นจะมีทัวร์สามล้อให้ใช้บริการ การโดยสารสามล้อถีบ trishaws หรือ “ซาน ลู่ เชอ” ถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเที่ยวชมถนนในสิงคโปร์

มีเพียงบรูไน ประเทศเดียวที่ไม่มีบันทึกการใช้สามล้อ สามล้อแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆแต่ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย สำนักเลขาธิการอาเซียนเคยจัดการแข่งขันรถสามล้อ หรือ ตุ๊ก-ตุ๊กแรลลี่มาแล้ว เพื่อส่งเสริมนโยบายสร้างความสัมพันธ์แบบรวมกลุ่มในหมู่ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเมื่อปี 2554 โดยเป็นการแข่งขันแรลลี่ระยะทางไกลจากกรุงจาการ์ต้า เมืองหลวงของอินโดนีเซีย มาสิ้นสุดที่กรุงเทพมหานคร คิดเป็นระยะทางถึง 3,000 กิโลเมตร มีเป้าหมายเพื่อแสดงถึงความเชื่อมโยงของอาเซียน

เรียบเรียงโดย ณัฐนันท์ รจนกร
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.oknation.net/blog/akom/2012/02/12/entry-1
http://www.baanmaha.com/community/thread38691.html
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000124257

http://onknow.blogspot.com/2010/05/blog-post_279.html
http://www.dailynews.co.th/world/171883
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000003532
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=314597
http://incountryindonesia54.blogspot.com/2011/12/becak.html
http://news.thaipbs.or.th/node/40194

โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: สะพานเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

Untitled-4

โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: สะพานเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

โดย อุษณีย์ ศรีธัญรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

รัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ( Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project) และถนนเชื่อมต่อไปยังประเทศไทย วงเงินลงทุน ๔ แสนล้านบาท คาดการณ์กันว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะเป็นประตูเศรษฐกิจ (Gate Way) แห่งใหม่ของโลกตะวันตกและตะวันออก และรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เป็นอย่างดี พื้นที่โครงการตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า ห่างจากเมืองทวายประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๔๐๐,๐๐๐ ไร่ หรือ ๒๕๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก ๒ ท่า ส่วนที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนที่เป็นที่พักอาศัย ส่วนราชการ และส่วนอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งมีพื้นที่ริมทะเลเป็นแนวหาดทรายมีความยาว ๑๒ กิโลเมตร

เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ บริษัทอิตาเลียน – ไทย ดิเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ร่วมลงนามทำข้อตกลงกับคู่สัญญาคือ การท่าเรือ หน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคมของพม่า เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างไทยกับพม่า ความตกลงอายุสัมปทาน ๖๐ ปี ซึ่งจะดำเนินการโดยบริษัทลูกชื่อ Dawei Development Company (DDC) นับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกในพม่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาใน ๓ ระยะ คือ ระยะแรกจากปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๘ เน้นโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนสำคัญที่สุดคือถนน ๘ เลน ยาว ๑๖๐ กม. กับทางรถไฟมายังชายแดนไทย ถนนจากทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน ต.หินเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ได้สร้างเสร็จเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๔ และขณะนี้กำลังวางท่อก๊าซและน้ำมันคู่ขนานกับถนนและทางรถไฟ ระยะที่ ๒ จะสร้างท่าเรือทวาย เรือที่มีระวางบรรทุก ๒๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ ตันจะสามารถเข้าเทียบท่าได้พร้อมกัน ๒๕ ลำ ท่าเรือจะรองรับสินค้าได้ปีละ ๑๐๐ ล้านตัน ส่วนระยะที่ ๓ เป็นการสร้างนิคม

อุตสาหกรรม ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยท่าเรือและ อุตสาหกรรมหนัก น้ำมันและก๊าซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลาย อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก เมื่อสร้างเสร็จครบทั้ง ๓ ระยะ ทวายจะกลายเป็น ศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์และการค้าขนาดใหญ่ เป็น New Land Bridge ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่ง และการค้าระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศในแถบทะเลจีนใต้ ผ่านทะเลอันดามัน ไปสู่มหาสมุทรอินเดีย สู่กลุ่มประเทศตะวัน ออกกลาง ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา (มาเลเซีย) ทำให้ร่นระยะเวลาการขนส่งและประหยัดต้นทุนจากระยะทางขนส่งสินค้าที่สั้นลงอย่างมาก

ท่าเรือน้ำลึกทวายยังอยู่ในโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ (EconomicCorridors) ในกรอบความร่วมมือของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub – Region ) ตามกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพตามเส้นทางพัฒนา ๓ เส้นทางคือ

๑. ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม ถึงเมืองมะละแหม่ง ของพม่า (ทวาย เป็นเมืองชายทะเลอันดามันทางภาคใต้ของพม่า อยู่ใต้เมือง เมืองมะละแหม่ง)

๒. ระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor) ระหว่างเมืองโฮจิมินห์ หรือไซ่ง่อนเดิมของเวียดนาม มาสุดทางที่เมืองทวาย

๓. เชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ระหว่างเมืองคุนหมิง ในจีนกับกรุงเทพฯ

(โครงการที่มีชื่อท้ายว่า “คอริดอร์ส” (corridors) คือเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมืองสำคัญๆ ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย ๖ ประเทศคือ ไทย จีน (มณฑลยูนนาน) เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า กลุ่มประเทศเหล่านี้มีประชากรรวมกัน ๒๕๐ ล้านคน มีพื้นที่รวมกัน ๒๓ ล้านตารางกิโลเมตร (เทียบได้กับยุโรปตะวันตก)

สำหรับประเทศไทยแล้ว ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเสริมสร้างการเป็นโลจิสติกส์ ฮับ (Logistics Hub) ของประเทศไทย หากท่าเรือทวายแล้วเสร็จจะช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่ง ระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย (พม่า) กับท่าเรือแหลมฉบัง (ไทย) โดยใช้ระยะเวลาเพียง ๑ วัน และส่งผ่านไปยังประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่นหรือประเทศในแถบแปซิฟิก ส่วนความเชื่อมโยงกับประเทศไทยในเชิงพื้นที่ ณ บ้านพุน้ำร้อน ต. หินเก่า อ. เมือง จ.กาญจนบุรี นั้น เมื่อมีการพัฒนา ด่านบริเวณบ้านพุน้ำร้อน ไปสู่ด่านผ่อนปรน ทางการค้า จะก่อให้เกิดการขยายตัวทาง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว ประเทศไทยยังจะได้รับประโยชน์จากแรงงานพม่าซึ่งมีค่าจ้างแรงงานถูก ทำให้อุตสาห กรรมชนิดใช้แรงงานเข้มข้นของไทย เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรม เส้นทางสายใหม่โดยใช้ท่าเรือน้ำลึก การก่อสร้าง สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้

อย่างไรก็ตาม โครงการท่าเรือน้ำลึก และอุตสาหกรรมทวาย ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเท่านั้น ต้องใช้ระยะเวลานานเป็นสิบปีจึงจะแล้วเสร็จ สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมีอุปสรรคบางประการที่อาจทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไป อาทิ ความเสี่ยงภายในจากชนกลุ่มน้อยในพม่า การต่อต้านของกลุ่มต่างๆและภาคประชาชนบางส่วนที่เห็นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์แก่ไทยมากกว่าพม่า และการที่พม่าขอแก้ไขสัญญาบางข้อเพื่อลดแรงต่อต้านลง เป็นต้น ปัจจุบันการก่อสร้างในโครงการทวายยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก นอกเหนือจากการสร้างบ้านใหม่ให้ชาวบ้านที่ต้องย้ายออก บริษัทที่เกี่ยวข้องหวังว่า จะเริ่มลงมือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโรงงานต่าง ๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้ในปี ๒๕๕๖ ดังนั้นความสำเร็จของโครงการ และผลประโยชน์ต่างๆที่คาดว่าจะได้รับเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดูกันต่อไป นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ยืนยันร่วมกันในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีไทยเยือนพม่าเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๕ ว่า จะให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยไทยพร้อมพิจารณาก่อสร้างถนนต่อจากเมียวดี-กอกะเระ และเชื่อมต่อไปยังมะละแหม่ง เพื่อการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน ขณะที่พม่าเตรียมเปิดด่านสิงขรเป็นด่านถาวรตามที่ไทยร้องขอ

อ้างอิง -บทความเรื่อง “ท่าเรือน้ำลึกทวาย”…ไทยจะได้อะไร? ๑๑ เมษายน ๒๕๕๔
โดย เรวดี แก้วมณี สำนักนโยบายอุตสาหกรรมมหภาค
http://www.oie.go.th/
-http://www.kingdomplaza
– hthttp://www.thaipost.net/node/51097

-http://www.thai-aec.com/
-http://news.thaipbs.or.th วันที่ ๑๗/๑๒/๑๒

-บทความเรื่อง ท่าเรือน้ำลึกทวาย bangkokbiznews.com

ความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน

Untitled-4

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน :
ความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน

โดย อุษณีย์ ศรีธัญรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network หรือ AUN) ตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘ ตามมติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔ ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๕ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาค อาเซียน โดยการลงนามในความตกลงเพื่อจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ๒ ฉบับคือ กฎบัตรเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ( Charter of the ASEAN University Network ) ลงนามโดยรัฐมนตรีด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน และข้อตกลงร่วมในการจัดตั้ง เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ( Agreement on the Establishment of the ASEAN University Network ) ลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสมาชิก

ความตกลงจัดตั้ง AUN เมื่อปี ๒๕๓๘ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยผู้ก่อตั้ง ๑๑ แห่ง จาก ๖ ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ๑.มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน ดารุสซาลาม ๒.มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ๓. มหาวิทยาลัยกัจจา มาดา ๔. มหาวิทยาลัยเซนส์ มาเลเซีย ๕.มหาวิทยาลัยมาลายา ๖. มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ๗. มหาวิทยาลัยเดอ ลา แซล ๘. มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ๙. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ๑๐. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ๑๑ มหาวิทยาลัยบูรพา ต่อมาเมื่อลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชาเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน ระหว่างปี ๒๕๓๘ – ๒๕๔๒ ทำให้จำนวนมหาวิทยาลัยสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก ๑๑ แห่ง เป็น ๑๗ แห่ง มหาวิทยาลัยที่เข้าเป็นเครือข่ายใหม่เหล่านี้ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติพนมเปญ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว สถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ฮานอย และมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม โฮจิมินห์ จนถึงปัจจุบัน (ปี ๒๕๕๕) AUN มีสมาชิกรวม ๒๗ แห่งดังนี้

บรูไน ดารุสซาลาม

๑. มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน ดารุสซาลาม
กัมพูชา
๒. มหาวิทยาลัยแห่งชาติพนมเปญ
๓. มหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์
อินโดนีเซีย
๔. มหาวิทยาลัยกัจจา มาดา
๕. มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย
๖. สถาบันเทคโนโลยีบันดุง
๗. มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
๘. มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
มาเลเซีย
๙. มหาวิทยาลัยมาลายา
๑๐. มหาวิทยาลัยเซนส์ มาเลเซีย
๑๑. มหาวิทยาลัยคาบังซาน
๑๒. มหาวิทยาลัยปุตรา มาเลเซีย
พม่า
๑๓. สถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง
๑๔. มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง
๑๕. สถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง
ฟิลิปปินส์
๑๖. มหาวิทยาลัยเดอ ลา แซล
๑๗. มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์
๑๘. มหาวิทยาลัยเอธินีโอเ ดอ มะนิลา
สิงคโปร์
๑๙. มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

บทความพิเศษ กรมประชาสัมพันธ์..กับบทบาท “การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน”

Untitled-4

บทความพิเศษ
กรมประชาสัมพันธ์..กับบทบาท “การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน”

“อัตลักษณ์อาเซียนมีหรือไม่” เป็นหัวข้อเสวนาที่กรมประชาสัมพันธ์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 เพื่อเปิดเวทีให้สื่อมวลชนและนักวิชาการ ร่วมรับฟัง ร่วมคิด และแสวงหาคำตอบร่วมกันว่า อัตลักษณ์ร่วมของอาเซียนมีหรือไม่..และคืออะไร ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ต้องการให้คำถามนี้กระจายไปทั่วสังคม ผ่านการเสวนาในอีก 8 จังหวัดใหญ่ ให้เกิดการพูดคุย ถกเถียง และหาข้อสรุปในแวดวงของนักคิด นักสื่อสารมวลชน และขยายผลเปิดพื้นที่ข่าวสารให้กับ “การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน” ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายความสำเร็จของความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หลังจากที่ข่าวสารด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองความมั่นคงในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้ถูกปลุกกระแสนำหน้าเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” มากว่า 2 ปี ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมไทย ที่ทำให้ความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ถูกมองเป็นเรื่องสำคัญ มากกว่าที่จะสร้างให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับสโลแกน”หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” ที่กลายเป็นคำ “สวยหรู แต่ประชาชนไม่เข้าถึง” ขณะที่ความมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน ที่ประชาชนยังได้ยินได้ฟังมาน้อย กลับจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนอาเซียนรวมกันเป็นปึกแผ่นได้อย่างราบรื่นและมั่นคงมากกว่า หากสื่อมวลชนไทยและอาเซียน ต่างร่วมกันค้นหาความหมายของอัตลักษณ์ร่วม และยกคุณค่านี้ขึ้นมาให้ชาวอาเซียนเกิดความรู้สึกร่วมกันให้ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ASEAN on Street : Love ASEAN ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับพันธมิตร ใช้ถนนสายธุรกิจของกรุงเทพ คือ สีลม ตั้งแต่แยกศาลาแดงถึงแยกสีลม-นราธิวาส จัดงานให้พี่น้องชาวสีลมและผู้คนที่แวะเวียนมา ได้ใช้โอกาสของวันวาเลนไทน์ ส่งมอบความรักและมิตรภาพให้กับเพื่อน ๆ ชาวอาเซียน ตลอดเส้นทาง 1 กิโลเมตร เต็มไปด้วยสีสันและบรรยากาศจาก 10 ประเทศสมาชิก ผ่านการแสดงนิทรรศการ การแสดงทางวัฒนธรรม และซุ้มอาหาร 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ที่สะท้อนแง่งามทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ประหนึ่งเป็นการจำลองถึงอนาคตในอีก 2 ปีข้างหน้าว่า ความแตกต่าง..จะเกิดเป็นความคุ้นชิน ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนสู่การยอมรับซึ่งกันและกัน และความโดดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละชาติ ก็จะกลายเป็น “อัตลักษณ์ร่วม” ที่พลเมืองอาเซียนกว่า 600 ล้านคน จะได้ร่วมรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของ ซึ่งบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวท่ามกลางความหลากหลายเช่นนี้ จะเกิดขึ้นบนถนนคนเดินในอีก 8 จังหวัดทั่วไทย ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ASEAN on Street”

แม้จะยาก..แต่ก็ท้าทาย หากการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน จะทำให้การรวมเป็นประชาคมอาเซียน เกิดขึ้นจากความพร้อมใจของพลเมืองอาเซียน 600 ล้านกว่าคน ที่หวังจะมีอนาคตที่ดีร่วมกัน… 2 ภารกิจสำคัญนี้ จึงเป็นความมุ่งมั่นของกรมประชาสัมพันธ์ ในการจุดกระแสความสนใจของสังคมไทย เพื่อหวังให้เกิดความรู้สึกตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่จะทำให้เกิดการรวมตัวกันอย่างเต็มใจ จนมองข้ามการแข่งขันใดๆ ในทางเศรษฐกิจ หรือการเอาชนะกันเพื่ออ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อน โดยเริ่มจากการทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของการมีวัฒนธรรมร่วม ที่เราจะดึงเอาความเหมือนหรือความคล้ายกัน มาหลอมรวมให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ประจำอาเซียน ส่วนสิ่งใดที่แตกต่าง ก็เคารพในความต่างนั้น จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจที่เราสามารถสร้างเอกภาพบนความแตกต่างได้สำเร็จ และนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวในการเดินหน้าสู่ประชาคมอาเซียนของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

หากแต่ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมได้เกิดขึ้นก่อนหน้า ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน นับย้อนถอยหลังไปถึงประวัติศาสตร์รากเหง้ากันเลยทีเดียว โดยหลักฐานมีปรากฏให้เห็นมากมายจากเทศกาล พิธีกรรมทางศาสนา การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม แม้กระทั่งการกินการอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป้าหมายและมาตรการสำคัญที่จะร่วมกันสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ได้ถูกระบุไว้ชัดเป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฎในแผนการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ทุกประเทศขับเคลื่อน กำกับ และติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

กรมประชาสัมพันธ์และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นสองหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ผลักดันการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทยและภูมิภาค ซึ่งไม่ต่างจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ที่ต่างก็มีภารกิจในขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน และกำลังขะมักเขม้นดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศ ที่ได้บูรณาการยุทธศาสตร์การเข้าไปสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย แผนการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน แผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และแผนการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยที่ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต่างต้องถือปฏิบัติ

ปัณญานัตย์ วิเศษสมวงศ์
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

คนไทย “ตระหนัก” หรือ “ตระหนก” กับประชาคมอาเซียน

Untitled-4

คนไทย “ตระหนัก” หรือ “ตระหนก” กับประชาคมอาเซียน

หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรสื่อสารมวลชน ต่างตั้งเป้าหมายให้คนไทยตระหนักรู้เรื่องประชาคมอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคอย่างคุ้มประโยชน์ แต่ถึงเวลานี้ ทุกฝ่ายอาจจะต้องหันกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า เพราะเหตุใด การ ตระหนักรู้ จึงกลายเป็นความ ตระหนก และ การตื่นตัว กลับกลายเป็นการ ตื่นตูม ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะคนไทยยังเข้าใจข้อมูลคลาดเคลื่อนอยู่หลายประการ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมความเข้าใจผิดและข้อวิตกจากข้อเขียนต่างๆ พร้อมทั้งนำเสนอข้อเท็จจริงจากกูรูหลายท่าน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ในหมู่ประชาชน แต่หมายรวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลด้วย

เริ่มจาก ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่เสนอข้อเขียนว่า ในบรรดาความสับสนทั้งหลาย คำย่อในภาษาอังกฤษเป็นเรื่องแรกที่จะต้องเคลียร์ความเข้าใจ เพราะ “ประชาคมอาเซียน” หรือ “ASEAN Community” มีคำย่อว่า “AC” แต่คำย่อ “AEC” กลับถูกใช้มากกว่า ในการรายงานข่าวสารของสื่อมวลชนไทย จะด้วยความตั้งใจหรือความไม่รู้จริง ผลของมันก็ได้ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดไปแล้วว่า ในปี 2558 สมาชิกประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะเข้าสู่ AEC

แท้จริงแล้ว AEC ย่อมาจาก ASEAN Economic Community หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเป็นเพียงหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน ซึ่งเมื่อผลึกกำลังกับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community – APSC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) ก็จะกลายเป็น 3 ประชาคมรากฐานที่ค้ำจุนประชาคมใหญ่ ที่เรียกรวมกันว่า “ประชาคมอาเซียน” ให้แข็งแรง มั่นคง และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข กลายเป็นสูตร : AC = APSC + AEC + ASCC เพราะฉะนั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงไม่ใช่ทั้งหมดของประชาคมอาเซียน (AC) เพียงแต่เป็นเสาที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องของปากท้อง จนพูดกันแต่เรื่อง AEC อย่างเดียว พูดไปพูดมา เลยเข้าใจผิดคิดว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเรื่องเดียวกันกับประชาคมอาเซียน จึงนำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ เพราะอีกสองเสาหลัก คือ เรื่องการเมืองและความมั่นคง กับเรื่องสังคมและวัฒนธรรมถูกละเลยไม่กล่าวถึง

ดังนั้นแล้ว การสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงควรพูดทั้งสามเรื่องไปพร้อม ๆ กัน เพราะแต่ละเสาหลักต่างก็มีความสำคัญและค้ำจุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะขาดเสาหลักหนึ่งเสาหลักใดมิได้ โดยเฉพาะเสาหลักด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อม พลังงาน การศึกษา อาชญากรรม ประวัติศาสตร์ โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ล้วนเป็นเรื่องของ ASCC ทั้งสิ้น

ในบทความวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยในกระแส AEC : มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย” ที่มีผู้วิจัยคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู และคณะ ได้กล่าวถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของคนไทย ที่เข้าใจไปว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อประเทศไทยในหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ เช่นว่า ภาษีศุลกากรในอาเซียนจะลดลงเป็น 0% ในทันที ซึ่งที่จริงแล้ว กลุ่มประเทศอาเซียนได้เริ่มปรับลดภาษีอากรตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA-CEPT มาตั้งแต่ปี 2536 จนมาในปี 2553 ผู้ก่อตั้งอาเซียน 6 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้ใช้ภาษี 0% ไปแล้วถึง 99.5% ซึ่งถือว่าเสร็จสิ้นเกือบสมบูรณ์แล้ว นั่นหมายความว่า ภายในปี 2558 จะเพิ่มแค่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เท่านั้น ที่จะต้องลดภาษีเป็น 0% ให้เสร็จสิ้น เพื่อให้อาเซียนกลายเป็นเขตการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์ จึงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้สำหรับประเทศไทย

การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี เห็นจะเป็นเรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดและวิตกกันมากที่สุด ซึ่งบทสัมภาษณ์ในเอกสารวิชาการ รวมทั้งการเข้าร่วมสัมมนา “อัตลักษณ์อาเซียนมีหรือไม่” ที่จัดโดย กรมประชาสัมพันธ์ ของ ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน ASEAN Watch” ได้ยืนยันในข้อนี้ว่า คนไทยกำลังอยู่ในภาวะที่ตระหนกจนเกินเหตุ เพราะไปเข้าใจว่าจะเกิดการเคลื่อนย้ายเสรีกับแรงงานทุกประเภท พาลทำให้กลัวว่า เดี๋ยวเขมร ลาว พม่า จะทะลักเข้ามาเต็มประเทศ แล้วคนไทยก็จะถูกแย่งงาน ถามว่าแล้วทำไมเพิ่งมากังวล ในเมื่อตอนนี้ก็เข้ามา 2 ล้านคนแล้ว แต่พอตอนที่อองซาน ซูจี มาเมืองไทยเมื่อสามเดือนก่อน คนงานพม่าที่มหาชัยขอให้ซูจีพากลับบ้าน สังคมไทยก็กลับตระหนกอีกแล้วว่า ถ้าพม่ากลับบ้านหมดแล้วจะทำอย่างไร นี่จึงอาจเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมคนไทยจึงมักถูกกระแสชี้นำครอบงำได้ง่ายในหลายๆ เรื่อง

จริงๆ แล้วการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไม่ได้หมายความว่า แรงงานทุกประเภทจะเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เพราะ AEC กำหนดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีจำกัดอยู่เฉพาะแรงงานที่มีทักษะ (skilled labour) ใน 8 สาขาวิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก บัญชี นักสำรวจ และล่าสุด คือ นักวิชาชีพด้านการโรงแรมและท่องเที่ยว ที่ได้มีการตกลงให้เพิ่มเมื่อไม่นานมานี้ พอมีคนส่วนหนึ่งเริ่มเข้าถึงข้อมูล ก็เข้าใจผิดต่อไปว่า ถ้าเป็นหมอ เป็นพยาบาลก็สามารถเลือกไปทำงานที่ไหนก็ได้ หรือวิตกอีกทางหนึ่งว่า บรรดาหมอชาวฟิลิปปินส์ หรือชาตินั้นชาตินี้ จะพูดจากับคนไข้ชาวไทยได้หรือ ทุกเรื่องกลายเป็นความวิตกที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริง เพราะการเคลื่อนย้ายของ skilled labour ในอาเซียน ไม่ได้แปลว่าจะไปทํางานได้เลย AEC กำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วมกันในประชาคมอาเซียน เช่น คุณสมบัติด้านการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน เป็นต้น

เมื่อผ่านคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว ใช่ว่าการเคลื่อนย้านแรงงานจะทำได้ในทันที เพราะยังมีด่านต่อไปที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบท้องถิ่นอยู่ดี เช่น เป็นแพทย์จากมาเลเซียจะทํางานในไทย ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของแพทยสภา คือ ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ที่ให้สอบเป็นภาษาไทย ในทางกลับกันคนไทยก็ต้องสอบเป็นภาษาเวียดนาม ภาษาบาฮาซา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ จึงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แล้วจะว่าไป การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีสาขาแพทย์ก็เริ่มไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะทุกประเทศเขามีกฎหมายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน ถ้าเปิดให้เคลื่อนย้ายได้ก็ต้องไปแก้กฎหมายทั้งหมด องค์กรวิชาชีพของไทยเอง ก็ยังมีท่าทีปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มวิชาชีพที่กล่าวมาอย่างเห็นได้ชัด ยกเว้นวิชาชีพด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว ใน 32 ตำแหน่งงาน (สาขาการโรงแรม 23 ตำแหน่งงาน และสาขาธุรกิจนำเที่ยว 9 ตำแหน่งงาน) ที่กฎหมายไทยไม่มีข้อจำกัดในการเข้ามาทำงานของคนต่างชาติ

คนไทยกลัวถูกแย่งอาชีพ จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่อาจสรุปได้ว่า สุดท้ายการเคลื่อนย้ายของ skilled labour ในอาเซียนก็คงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของประเทศเจ้าบ้านเป็นหลัก ถ้าหากต้องการแพทย์จากต่างชาติ ก็ต้องมีระเบียบที่ผ่อนปรนมากขึ้น ทั้งนี้ ก็จะต้องยึดหลักไม่กีดกันประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษด้วย

ส่วนเรื่องการศึกษาที่กลัวว่า จะมีต่างชาติแห่มาเปิดโรงเรียน ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ นักการศึกษาและนักเศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของประเทศ ได้ให้เหตุผลว่า เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้มีใบอนุญาต และผู้อำนวยการต้องเป็นคนไทย เงื่อนไขมีเต็มไปหมด จึงเตือนคนไทยว่า การตื่นตัวเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่อยากให้ตื่นตูมจนเกินไป

ต่อด้วยความเข้าใจผิดที่ว่า นักลงทุนอาเซียนสามารถลงทุนในธุรกิจบริการในอาเซียนได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อจำกัด ประเด็นนี้คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ข้อ ข้อแรก AEC จะเปิดให้นักลงทุนถือหุ้นในธุรกิจบริการได้อย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ กฎเกณฑ์ภายในประเทศต่างๆ ยังไม่ได้เปิดให้นักลงทุนถือหุ้นได้ตามที่ AEC กำหนด เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวถือหุ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจบริการ เป็นต้น และ AEC ก็ไม่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น การเปิดเสรีภาคบริการของไทยภายใต้ AEC จึงอยู่ในระดับที่จำกัดมาก ซึ่งในความเป็นจริง นักลงทุนไทยกลับลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากกว่าที่ประเทศอาเซียนมาลงทุนในไทยเสียอีก จากข้อมูลการลงทุนโดยตรงระหว่างไทยกับอาเซียน พบว่า มูลค่าการลงทุนของไทยในอาเซียนสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี

เมื่ออาเซียนรวมตัวกันทางเศรษฐกิจแล้ว ในอนาคตเศรษฐกิจอาจจะล้มแบบโดมิโน่ เหมือนที่เกิดขึ้นกับสหภาพยุโรปหรืออียู (Europe Union: EU) ความกังวลนี้เกิดขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า อาเซียนเราไปลอกอียูมา ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า อียูมีความแตกต่างมากเมื่อเทียบกับการรวมตัวของบ้านเรา ทั้งในแง่ระดับการรวมกลุ่มและการจัดสรรอำนาจอธิปไตย อียูมีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจเหนือรัฐ ขณะที่สมาชิกอาเซียนยังคงมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง ไม่มีการตั้งหน่วยงานเหนือรัฐขึ้น การตกลงใดๆ ในหมู่สมาชิกจึงต้องได้รับความยินยอมจากสมาชิกทั้งหมด ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินนโยบาย ส่วนด้านระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ อาเซียนเราเพียงแต่ยกเลิกภาษีนำเข้าและโควต้าระหว่างกันเท่านั้น ส่วนอียูนอกจากจะยกเลิกภาษีการค้าแล้ว ยังมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มอียูและเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานทุกประเภทอย่างเสรี และอียูมีการใช้สกุลเงินอียูร่วมกันในหมู่ประเทศสมาชิก ซึ่งเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น

เมื่อเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ทุกอย่างจะหลั่งไหลเข้ามาจนตั้งตัวไม่ทัน เป็นความวิตกที่ได้คำตอบแล้วว่า หลายเรื่องได้ดำเนินไปก่อนหน้า และมันจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญไปกว่าการนับถอยหลังรอวันรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งเดิมกำหนด 1 มกราคม 2558 เป็นวันดีเดย์ ได้ถูกขยับออกไปเป็น 31 ธันวาคม 2558 ควรจะอยู่ที่ว่า เมื่อรวมเป็นประชาคมแล้ว แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ให้ในอีก 10..20..30 และปีต่อๆ ไป ความเข้มแข็งและความสงบสุข จะยังคงอยู่กับประชาคมนี้อย่างคงทนถาวร อันนั้นต่างหากที่เป็นหัวใจ

ท้ายสุด การโยงทุกเรื่องว่าเกิดขึ้นเพราะประชาคมอาเซียน ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง ซึ่งผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน ASEAN Watch” ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้วาทกรรมอาเซียน จะจัดประชุม จะทำอะไร ก็ให้เหตุผลว่า เพื่อการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่จนแล้วจนรอดก็หนีไม่พ้นการโชว์ธงประจำชาติ การแต่งกาย ผิวเผินจนไม่สามารถแยกแยะได้ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อย่างกรณีโครงการเรียนและสอนภาษาอังกฤษของเยาวชน ไม่น่าจะเป็นที่เรื่องสัมพันธ์กับอาเซียนมากเท่ากับการเรียนภาษาประเทศเพื่อนบ้าน เพราะทุกวันนี้เพื่อนบ้านรู้จักภาษาไทยมากกว่าคนไทยรู้จักภาษาประเทศเพื่อนบ้าน หรือเรื่องที่ไม่ควรโยง คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่จะเพิ่มขึ้นหากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะยาเสพติดแพร่ระบาดในไทยก่อนที่กระแสเรื่องอาเซียนจะอุบัติขึ้น การผูกโยงทุกเรื่องเข้ากับอาเซียนจึงดูเหมือนว่าประเทศไทยจะตื่นตัวดีอยู่ แต่เอาเข้าจริงเวลาสำรวจโพลล์ทีไร ปรากฎว่า ประเทศไทยรั้งท้ายทุกเรื่อง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็น ความตระหนก ของคนไทยที่เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และหากปัญหาเหล่านี้ยังสะสมฝังรากอยู่ คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้คนไทยเชื่อว่า ประชาคมอาเซียน จะสร้างความมั่นคง…ความเจริญรุ่งเรือง จนในอนาคต ประชาชนทั้งหมดทั้งมวลจะอยู่ดีมีสุข เพราะฉะนั้น ความชัดเจนของข้อมูล จึงกำลังเป็นความต้องการของสังคมไทย โดยคงจะต้องเริ่มที่สื่อมวลชนไทย ที่จะต้องระมัดระวังการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน พร้อมความร่วมแรงร่วมใจจากอีกหลายๆฝ่ายที่ต้องเร่งเปลี่ยนความเข้าใจผิด ให้กลับสู่ทิศทางของความเข้าใจที่ถูกต้องและสมบูรณ์ และคนไทยเองก็ต้องอ่านและฟังให้มาก และพยายามเรียนรู้อย่างรอบด้าน เพื่อที่ว่า “ความตระหนก” จะได้เปลี่ยนเป็น “ความตระหนักรู้” ที่จะทำให้ท่านก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างรู้เท่าทันและสง่างาม…

ปัณญานัตย์ วิเศษสมวงศ์ เรียบเรียง
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

อ้างอิง

http://www.mfa.go.th/asean บทความ “ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย”
บันทึกอาเซียน โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล ตอน AEC ใน ASEAN
ครูเศรษฐ OKnation
หนังสือพิมพ์มติชน
จดหมายข่าว สมาคมจดหมายเหตุสยาม
การสัมมนา “อัตลักษณ์อาเซียนมีหรือไม่” โดย กรมประชาสัมพันธ์

ความท้าทาย : ธุรกิจโลจิสติกส์ภายใต้ AEC

Untitled-4

ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ในปี 2535 อาเซียนมีการพัฒนาด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเรื่อยมา และพยายามส่งเสริมให้มีความร่วมมือครอบคลุมด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การค้าบริการ การลงทุน ซึ่งได้มีการจัดทำกรอบความตกลงด้านการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) และกรอบความตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน (Framework Agreement on the ASEAN Investment Area: AIA) เมื่อปี 2538 และ 2541 ตามลำดับ
ธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นธุรกิจหนึ่งที่อาเซียนให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เป็นมากกว่าธุรกิจการขนส่งและการจัดเก็บ แต่เป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความคิดในการจัดการการไหลของทรัพยากรขององค์กร และการใช้แรงงานให้มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพ โดยต้องมองปัญหาให้ครอบคลุมทั้งหมดจากต้นชนปลาย (End to End) ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีแนวคิดเชิงโลจิสติกส์ของตนเอง ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีตลาดใหญ่มหาศาล สินค้าจะกระจายสู่ภูมิภาคและมาพร้อมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน หากผู้ที่อยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่มีการเตรียมความพร้อมสู่การรองรับสินค้าในระดับนานาประเทศก็ย่อมได้เปรียบ ทั้งนี้ไม่เฉพาะการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแหล่งพลังงานทางท่อภายใต้เงื่อนไข “ไร้พรมแดน” ผ่านโครงการเชื่อมระบบคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เปิดประเทศ
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงอาเซียน โดยถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการสร้างการเติบโตและการจ้างงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้กว้างขวางขึ้น อาเซียนได้ดำเนินการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ข้อมูลเผยแพร่จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development : ITD) เปิดเผยว่า อาเซียนมีโครงการการเชื่อมโยงที่สำคัญคือ โครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง (Singapore Kunming Rail Link: SKRL) ที่เป็นแนวคิดตาม โครงการเส้นทางรถไฟสายเอเชียเอสแคป เพื่อเชื่อมทวีปเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกันเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2503 และเป็นทางรถไฟความเร็วสูง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2558 โดยเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายหลักของ 8 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมาร์ และมณฑลยูนนานของจีน ทั้งนี้ สิงคโปร์เองก็ต้องการเชื่อมทางรถไฟกับอินโดนีเซีย โดยสร้างอุโมงค์รถไฟใต้น้ำลอดช่องแคบมะละกาจากชายแดนมาเลเซียถึงเกาะขนาดเล็กของอินโดนีเซีย ระยะทาง 18.9 กิโลเมตร ก่อนจะสร้างสะพานเชื่อมกับเกาะสุมาตรา
สำหรับเงื่อนไขการเปิดเสรีโลจิสติกส์ภายใต้ AEC ยึดกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Service) หรือ AFAS ที่มีอยู่ด้วยกัน 12 สาขาอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การขนส่งทางอากาศ สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ (E-ASEAN) การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ ทั้งนี้ อาเซียนได้กำหนดให้บางสาขามีความพิเศษมากกว่าสาขาอื่นๆ เช่น ด้านโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว ไอซีที และการบิน กำหนดให้มีการเปิดเสรีเร็วกว่าสาขาอื่นๆ โดยสาขาโลจิสติกส์ จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าถือหุ้นได้สูงถึงร้อยละ 70 ภายในปี 2013 และอนุญาตให้ชาติใดก็ได้ สามารถเข้ามาทำงานเป็นผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้จัดการ การกำหนดเช่นนี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาคการขนส่งในประเทศ ด้านกฎหมายยังกำหนดว่าต้องเป็นของคนในประเทศ และยังคงเป็นรูปแบบเดิม ปกติธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ชาวต่างชาติก็สามารถเข้ามาถือหุ้นได้ร้อยละ 100อยู่แล้ว เพียงแค่ต้องขออนุมัติกับภาครัฐเสียก่อน แต่ในกรณีเปิด AEC ต่างกันตรงที่ ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นสูงสุดได้เลยร้อยละ 70 โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่หากอยากได้ร้อยละ 100 ก็ต้องอยู่ในรูปแบบเหมือนเดิม สำหรับบริษัทโลจิสติกส์ที่เป็นของไทย ต่างจากบริษัทที่มีชาวต่างชาติถือหุ้น หรือบริษัทต่างชาติที่มีความกล้าในการเปิดตลาดไปยังประเทศอื่น ประกอบกับมีเครือข่ายอยู่หลายประเทศ ได้มีการเดินหน้าพูดคุย หรือจับมือกับประเทศในอาเซียนมาระยะหนึ่ง หากแต่เป็นไปอย่างไม่เปิดเผยเพื่อป้องกันผลประโยชน์จากคู่แข่งทางการค้า
การจะทำธุรกิจโลจิสติกส์ระดับอาเซียน ในรูปแบบ “ไร้พรมแดน” แท้จริงแล้วเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก แต่ละประเทศมีกฎหมาย กติกา ความชำนาญ วัฒนธรรม รวมทั้งเงื่อนไขที่แตกต่างกัน หากจะเข้าไปทำธุรกิจ โลจิสติกส์ อาจเป็นในรูปแบบของการเปิดสาขา และต้องพึ่งพาคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ เนื่องจากมีความชำนาญมากกว่า ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ประธานหลักสูตร BBA International และอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC วิเคราะห์ถึงบริษัทโลจิสติกส์ ในประเทศไทย พบว่า การเปิด AEC หมายถึงการมีเสรีด้านการค้าและการลงทุนที่มากขึ้น หากผู้ประกอบการ โลจิสติกส์ชาวไทยไม่ใช้นโยบายเชิงรุกออกไปประกอบธุรกิจนอกประเทศ หรือปรับตัวให้เป็นไปตามทิศทางของตลาดและการแข่งขันที่มากขึ้น อาจส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นต้องปิดตัวลงก็เป็นได้ โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอีกหนึ่งประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมก่อนเปิด AEC คือ การสร้างจุดเด่นและเสริมจุดยืนที่แข็งแกร่งให้แก่บริษัทของตน ด้วยการศึกษาหาลู่ทางปรับตัวและใช้โอกาสจากการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้หลายบริษัทหันมาทำโลจิสติกส์เอง โดยเฉพาะลูกค้าที่เคยเป็นผู้ผลิตก็ได้ผันตัวมาทำเองเช่นกัน อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เครือเอสซีจี บริษัทในเครือดั๊บเบิ้ลเอ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ฯลฯ ด้วยแนวคิดว่าบริษัทมีการผลิตสินค้าและทำการตลาดอยู่แล้ว ซึ่งบางบริษัทมีฐานการผลิตตั้งอยู่นอกประเทศอยู่แล้ว และบางบริษัทกำลังขยายฐานการผลิตออกไป ดังนั้นภาคการขนส่งและธุรกิจโลจิสติกส์จึงควรต้องตามไปด้วย เป็นการขนส่งสองทางและเป็นการกระจายสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อการประกอบธุรกิจอย่างความครบวงจร

เรียบเรียง ประวีณา ธาดาพรหม
แหล่งข้อมูล
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) http://www.itd.or.th/
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.acc.chula.ac.th/ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ http://www.dtn.go.th/

กรอบความร่วมมืออาเซียน + 3

Untitled-4

กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 (ASEAN+3) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่ม 3 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งชุมชนเอเชียตะวันออก (East Asian Community) โดยให้อาเซียนและกระบวนการต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามเมื่อปี 2007 (พ.ศ.2550)

ผู้นำของประเทศสมาชิกได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออกฉบับที่ 2 (Second Joint Statement on East Asia Cooperation: Building on the Foundations of ASEAN Plus Three Cooperation) พร้อมกับเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน (ASEAN+3 Cooperation Work Plan (2007 – 2017)) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระยะยาว และผลักดันให้เกิดชุมชนอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี 2015 (พ.ศ.2558) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสังคม วัฒนธรรม และการพัฒนา และด้านการส่งเสริมกรอบการดำเนินงานในด้านต่างๆและกลไกต่างๆ ในการติดตามผล โดยแผนความร่วมมือดังกล่าวทั้ง 5 ด้านนี้ ถือเป็นการประสานความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศในเอเชียตะวันออกมากยิ่งขึ้น

อาเซียน +3 ประกอบด้วยสมาชิก 13 ชาติ คือ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน รวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านคน หรือหนึ่งในสามของประชากรโลก แต่เมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เข้าด้วยกัน จะทำให้มีมูลค่าถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 16 ของจีดีพีโลก ขณะที่ยอดเงินสำรองต่างประเทศรวมกันจะสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐซึ่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสำรองต่างประเทศของโลก โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจเหล่านี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอาเซียน+3 จะมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

จากความร่วมมือดังกล่าวประเทศสมาชิกอาเซียน จะได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือในกรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียนบวก+3 (FTA Asian +3) มูลค่าประมาณ 62,186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,943 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อินโดนีเซียมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ใกล้เคียงกัน คือประมาณ 7,884 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเวียดนามคาดว่าจะได้รับประโยชน์มูลค่าประมาณ 5,293 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน + 3 สมัยพิเศษ (Special ASEAN+3 Financial Ministers Meeting) ที่ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนการใช้เวทีหารือด้านนโยบายและกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียน อาทิ ข้อริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative: CMI) พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลังสนับสนุนให้มีกระบวนการเฝ้าระวัง โดยร่วมมือกับสถาบันการเงินในภูมิภาคและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อริเริ่มเชียงใหม่ ที่รัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 จำเป็นจะต้องเร่งรัดกระบวนการไป สู่ระดับพหุภาคี เพื่อเป็นกันชนรองรับเศรษฐกิจอ่อนแอในอนาคต

ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า จะขยายผลความตกลงริเริ่มเชียงใหม่ในการจัดตั้งกองทุนสำรองระหว่างประเทศร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน (Currency Swap) จากเดิม 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท เบื้องต้นคาดว่า 3 ประเทศนอกกลุ่มอาเซียน คือจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จะลงเงินสำรองร้อยละ 80 ของวงเงิน รวม หรือ 9.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มประเทศอาเซียนอีกร้อยละ 20 หรือ 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะมีรูปแบบคล้ายกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund :IMF) แต่ก็ไม่ใช่คู่แข่งของ IMF แต่จะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของเอเชียที่จะมีกองทุนระหว่างประเทศเป็นของตนเอง โดยประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ลงเงินรวมกันประมาณร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 ที่เหลือกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ จะลงทุนร่วมกัน ขณะที่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะต้องใส่เงินลงทุนมากกว่าอีก 5 ประเทศ คือ บรูไน พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า โดยคาดว่าจะสามารถเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณารัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 วาระปกติที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนพฤษภาคม 2552

ที่มา : สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

เข้าใจอาเซียน ตอน: กำเนิดอาเซียน

Untitled-4

การจะเข้าใจอาเซียนหรือประชาคมอาเซียนอย่างถูกต้องจำต้องเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งเหล่านี้ก่อน เพราะจะช่วยให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมจึงเกิดความร่วมมือดังกล่าว อะไรเป็นเป้าหมายแรงจูงใจของสิ่งเหล่านี้ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวทาง ทิศทางพัฒนาการในอนาคต
มีผู้พยายามอธิบายกำเนิดอาเซียนในหลายแง่มุมครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเหตุผลจากการถอนตัวของอดีตชาติเจ้าอาณานิคม การแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกัน แม้กระทั่งความพยายามของบางประเทศที่ประสงค์เข้ามามีบทบาทนาในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในที่นี้เห็นว่าสงครามเย็นคือปัจจัยสำคัญที่สุด

ความคิดเบื้องแรกที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดจะรวมตัวกันเกิดจากภัยคุกคามอันเนื่องจากสงครามเย็น (Cold War) อันเป็นการขับเคี่ยวระหว่างค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทาให้เกิดการปะทะกันในหลายพื้นที่ ในช่วงทศวรรษ 1960 สงครามเวียดนามบานปลายใหญ่โต กองทัพอเมริกันรบกับพวกเวียดนามเหนือโดยตรง เฉพาะที่ประเทศเวียดนามรัฐบาลอเมริกาส่งทหารไปร่วมรบถึง 4-5 แสนนาย ในขณะที่ขบวนการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กำลังแพร่ขยายอย่างรวดเร็วทั้งในเวียดนาม ลาว กัมพูชา สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในภาวะสงครามหรือตึงเครียดระดับสงครามที่เดิมพันด้วยการรักษาระบอบอานาจเดิมหรือการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

เมื่อสงครามในอินโดจีนทวีความรุนแรง ขบวนการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวในเวียดนาม ลาว กัมพูชามากขึ้น และเริ่มเข้ามาแพร่หลายในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาครวมทั้งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลหรือผู้นำประเทศของกลุ่มประเทศที่โน้มเอียงไปทางสนับสนุนการปกครองแบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยตระหนักถึงภัยคุกคามร้ายแรงที่มาถึงหน้าประตูบ้านหรือโจรได้เข้ามาคุกคามบางส่วนของบ้านตัวเองแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ย่อมสร้างความเสียหายร้ายแรงถึงขั้นผู้ปกครองต้องเสียอำนาจ ประเทศเปลี่ยนการปกครอง ระบบศาสนาถูกกำจัด (สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้นต่อต้านศาสนาอย่างรุนแรง)

ความน่าหวาดวิตกยังเกิดจากการวิเคราะห์ตามแนวทฤษฎีโดมิโน (Domino theory) ของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่าหากประเทศอินโดจีน คือ เวียดนาม ลาว กัมพูชาตกเป็นคอมมิวนิสต์แล้วประเทศที่เหลือในภูมิภาคจะพลอยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย ไม่ว่าทฤษฎีดังกล่าวจะสมเหตุสมผลเพียงใด รัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลกลุ่มประเทศที่เหลือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกังวลใจอย่างยิ่ง เห็นความจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อต้านภัยคุกคามร้ายแรงดังกล่าว

หลังจากการปรึกษาหารือหลายรอบ ที่สุดจึงจัดตั้งเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือที่นิยมเรียกแบบสั้นๆ ว่า อาเซียน ภายใต้ “ปฏิญญากรุงเทพฯ” (Bangkok Declaration) หรือที่เรียกว่าปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 ณ เวลานั้นมีรัฐสมาชิกเริ่มต้นเพียง 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ทั้งห้าประเทศไม่สนับสนุนลัทธิสังคมนิยม ในมุมกลับกันคือการโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ

ดังนั้น แม้ว่าวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียนตามปฏิญญากรุงเทพฯ จะมีหลายข้อ กล่าวถึงแทบทุกด้านอย่างครอบคลุม เช่น ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ พัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค ฯลฯ แต่เหตุผลหลักในช่วงก่อตั้งนั้นคือรัฐบาลหรือผู้นาประเทศต้องการต่อต้านภัยคุกคามจากสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของอาเซียนเพื่อต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์เริ่มผ่อนคลายลงหลังจากที่สหรัฐอเมริกากับจีนเริ่มปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความตึงเครียดของสงครามเย็นลดน้อยลง ประเทศทั้งหลายในโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน บริบทโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากพร้อมกับภัยคุกคามแบบใหม่ที่เกิดขึ้น การดำรงอยู่ของอาเซียนหรือประชาคมอาเซียนในปัจจุบันจึงไม่ตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ดั้งเดิมอีกต่อไป กล่าวได้ว่ามวลหมู่ชาติสมาชิกอาเซียนได้ก้าวออกจากอดีตไปสู่อนาคตข้างหน้าแล้ว

โดย : ชาญชัย คุ้มปัญญา
http://chanchaiblogger.blogspot.com/2012/12/blog-post_23.html

เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย เกี่ยว กับ อาเซียน

เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย เกี่ยว กับ อาเซียน
by comsocietygroup web aseansociety2012

Untitled-2

Untitled-3